เกษตรสู่ความอุดมสมบูรณ์

ดินอุดมสมบูรณ์ คือดินดีหลายด้าน ความสมดุลของแร่ธาตุอาหาร เพื่อการเติบโตของพืช ธาตุอาหารพืชหลักในดินได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซี่ยม ธาตุอาหารรอง ประกอบด้วย แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน ธาตุอาหารเสริมประกอบด้วย เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม แมงกานีส และ คลอรีน และมีปฏิกิริยาของดินที่เป็นกลาง คือดินต้องไม่เป็นกรดเป็นด่างหรือมีความเค็มจนเกินไป จึงถือว่าเป็นดินดี อุดมสมบูรณ์ ความสมดุลของอากาศ และน้ำ ดินต้องมีโครงสร้างที่ดี มีการร่วนซุย อากาศถ่ายเทได้ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี เม็ดดินเกาะกันอย่างหลวมๆ เพื่อช่วยให้รากพืชสามารถแผ่ขยาย และชอนไชไปหาแร่ธาตุอาหารพืชได้ง่ายได้ในระยะที่กว้างไกล เป็นดินที่อ่อนนุ่มไม่แข็งกระด้างจนเป็นปัญหาแก่รากพืช ความสมดุลของจุลินทรีย์ คือเป็นดินที่มีจุลินทรีย์ และสิ่งที่มีชีวิตเล็กๆ ในดินอันเป็นประโยชน์ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถควบคุมจุลินทรีย์ และสิ่งที่มีชีวิตเล็กๆ ในดินที่เป็นโทษแก่พืชได้เป็นอย่างดี และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน สามารถสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่พืชได้ เช่น สามารถย่อยแร่ธาตุในดินที่ยังไม่เป็นประโยชน์แก่พืช หรือให้ประโยชน์น้อยให้เป็นประโยชน์แก่พืช และเพิ่มปริมาณที่มากขึ้น มีการตรึงธาตุอาหารพืชจากอากาศให้เป็นประโยชน์แก่พืช สร้างสารปฏิชีวนะปราบโรคและศัตรูพืชในดินได้ เสริมสร้างพลังให้แก่พืชและทำลายสารพิษในดินได้ ทุกอย่างต้องเกี่ยวข้องกันเป็นวงจรของดิน ดินเปรียบเหมือนอาหาร เมื่ออาหารดี พืชก็ดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ดีไม่เป็นโรค แข็งแรง พร้อมจะต่อสู้กับศัตรูพืชได้หลากหลาย ทนทานต่อสิ่งแวดล้อม ดินดี พืชก็ดีไปด้วย

การปรับปรุงดิน พื้นที่ที่ทำการเกษตรที่มีเนื้อดินเป็นดินทราย เช่น ดินร่วนปนทราย ดินเหนียวปนทราย ดินปนลูกรัง ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วย เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน อัตรา 2 ตันต่อไร่ขึ้นไป ส่วนไม้ผลควรมีการใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมปลูก และขุดใส่เป็นวงรอบรัศมีทรงพุ่ม ในปีต่อๆ ไป หรือปลูกพืชปุ๋ยสดแล้วไถกลบ การใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมียังมีความสำคัญต่อการปลูกพืชทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด หรือไม้ผลต่าง ๆ แต่ในพื้นที่ที่เป็นดินตื้นไม่มีหน้าดิน ควรใส่ร่วมกับการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่นๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด อนึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีต้องมีความรู้ว่าสูตรใดใช้กับพืชชนิดใด จึงจะได้ผลดีและคุ้มค่ากับทุน ในดินเปรี้ยว ซึ่งสังเกตุได้จากพื้นที่ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำแช่ขัง น้ำจะใสมีหญ้าทรงกระเทียมหรือจูดหนูขึ้นหนาแน่น จำเป็นต้องใส่ปูนมาร์ล ปูนขาว หินปูนฝุ่น เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น ดินเค็ม เป็นดินที่มีเกลือที่ละลายน้ำได้เป็นองค์ประกอบอยู่สูงจนเป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก มีศักยภาพในการให้ผลผลิตต่ำ บางแห่งไม่สามารถปลูกพืชได้เลย การปลูกผลไม้ โดยการยกร่องสูงเช่นปลูกมะพร้าวสามารถแก้ปัญหาได้ บางพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น กุ้ง หอย ปู และ ปลา